“คนค้นฅน” ตอน “หัวใจเรืองแสง”
คนค้นฅนสัปดาห์นี้เป็นเรื่องราวของนักอนุรักษ์ นักวิจัยเพาะพันธุ์หิ่งห้อยคืนสู่ธรรมชาติ “อาจารย์ก้อย” หรือ “ผศ.ดร. อัญชนา ท่านเจริญ” ปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำภาคกีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ซึ่งอุทิศแรงกายแรงใจกว่า 25 ปี เพื่อศึกษาวิจัย และหาหนทางสร้างบ้านให้หิ่งห้อย ในพื้นที่ชุมชนเมือง และพื้นที่ที่เคยมีหิ่งห้อยอาศัยอยู่จำนวนมากอย่างคุ้งบางกะเจ้า แต่ปัจจุบันกลับลดน้อยถอยลง ด้วยความรักในเจ้าสัตว์เรืองแสงตัวเล็ก ๆ ก่อเกิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ จนสามารถสร้างกลุ่ม สร้างเครือข่ายนักอนุรักษ์หิ่งห้อย จากแสงหิ่งห้อยที่ค่อย ๆ ริบหรี่เลือนหาย กลับสว่างไสวระยิบระยับส่องสว่างทั่วชุมชนอีกครั้ง จากจุดเริ่มต้นด้วยหนังสือนิทานหิ่งห้อย ความสงสัยอยากรู้ในหิ่งห้อย สัตว์ตัวน้อยที่มีความลี้ลับและมหัศจรรย์นี้ กลายเป็นแรงผลักดัน ให้ศึกษาค้นคว้า และมีเป้าหมายในการเดินทางคือ การเป็นผู้เชียวชาญหิ่งห้อยคนแรกของประเทศไทย ผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ต้องออกเดินหาหิ่งห้อยยามค่ำคืนตั้งแต่หกโมงเย็นจนหกโมงเช้า อดหลับอดนอนเพื่อนั่งคัดแยกสายพันธุ์และนับจำนวนหิ่งห้อยนับร้อย ๆ ตัวในแต่ละคืน เพื่อศึกษาวงจรชีวิต อุปนิสัยใจคอ สิ่งที่หิ่งห้อยชอบหรือไม่ชอบ ทำทุกวิถีทางเพื่อให้หิ่งห้อยไม่หายไปไม่ว่าเมืองแสงไฟจากเมืองจะสว่างแค่ไหน หิ่งห้อยก็ยังต้องอยู่รอด ด้วยความเชื่อว่าตราบใดที่ “หิ่งห้อยอยู่ได้ มนุษย์จะอยู่รอด” เพราะหิ่งห้อยคือสัตว์ที่บ่งชี้ความสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งที่น่าสนใจคือความท้าทายที่ต้องการสร้างที่อยู่อาศัยให้หิ่งห้อย กลางชุมชนเมือง ให้คนได้รู้จัก เรียนรู้และหันมามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์หิ่งห้อยร่วมกันกับตัวเอง เพราะนักวิจัยเพียงคนเดียวไม่สามารถทำได้สำเร็จถ้าขาดการร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชน เพื่อในอนาคตยังคงจะมีหิ่งห้อยหลงเหลือให้ลูกหลานดู ไม่ใช่แค่เปิดดูในหนังสือนิทาน